ยิ่งนานยิ่งถ่าง ช่องว่างทางรายได้ ปัญหาใหญ่ที่รอ คสช. แก้

  • พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์
  • ผู้สื่อข่าวอิสระ
คนงานก่อสร้าง

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

การประกาศอันดับ 50 มหาเศรษฐีของไทยของนิตยสารฟอร์บส ในปี 2560 เมื่อต้นเดือนนี้ ตอกย้ำสภาพปัญหาใหญ่ของประเทศไทย คือ ช่องว่างรายได้ระหว่างคนรวยกับคนจน

มูลค่าทรัพย์สินโดยรวมของมหาเศรษฐีไทย 50 ครอบครัว เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 16% ขณะที่มหาเศรษฐีอันดับหนึ่งยังคงเป็นตระกูลเจียรวนนท์ ตามมาด้วยนายเจริญ สิริวัฒนภักดี และตระกูลจิราธิวัฒน์ ซึ่งทั้งหมดต่างมีทรัพย์สินมากกว่า 5 แสนล้านบาท

เมื่อนำมูลค่าทรัพย์สินรวมของมหาเศรษฐี ทั้ง 50 คน ไปเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ในปี 2559 พบว่ามีสัดส่วนถึง 30% ของจีดีพี สัดส่วนนี้มีท่าทีจะลดลงแต่กลับเพิ่มสูงขึ้นตลอด

ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย

  • มหาเศรษฐี 50 คนแรก มีทรัพย์สินเป็น 30% ของจีดีพี

  • คนรวย 10% นอกจากมีรายได้ เป็น 35 เท่า ของคนจน 10%

  • ยังมีทรัพย์สิน เป็น 79% ของประเทศ

  • บัญชีเงินฝากคนรวย 0.01% มีมูลค่า กว่าครึ่ง ของเงินฝากทั้งหมด

AFP/Getty Images

ปัญหาความเหลื่อมล้ำยังเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย สถาบันการเงินเครดิตสวิส ออกรายงานความมั่งคั่งของโลก (Global Wealth Report 2016) เมื่อปีที่แล้ว ระบุว่า ไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากรัสเซียและอินเดีย โดยคนรวย ที่มีสัดส่วน 1% ของประชากร ครอบครองความมั่งคั่งสูงถึง 58% ของระบบเศรษฐกิจ

สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เคยระบุว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยยังมีความรุนแรง โดยคนรวย 0.1% หรือ 65,000 คน จากประชากรทั้งหมด 65 ล้านคน มีเงินฝากเท่ากับ 49% ของเงินฝากทั้งระบบ

ภัยแล้ง 2559

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

ด้าน อ็อกแฟม องค์กรด้านการกุศลของอังกฤษที่เคลื่อนไหวทางสังคม ออกรายงานเมื่อต้นปีนี้ ระบุว่า คนมีฐานะของไทย ที่เป็นสัดส่วน10% ของประชากร มีรายได้มากเป็น 35 เท่าของผู้มีรายได้น้อยที่เป็นสัดส่วน 10% ของจำนวนประชากร และ คนรวยเหล่านี้ยังเป็นเจ้าของทรัพย์สิน 79% ของประเทศ

รัฐบาลไทยแทบทุกชุด ต่างมีโยบายแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยรัฐบาลชุดปัจจุบันของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถึงกับจัดให้เป็นนโยบายนี้ มีความสำคัญเป็น "ลำดับที่ 3" รองจากเรื่องการเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์และการรักษาความมั่นคงของรัฐ โดยตัว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มักพูดอยู่เสมอว่า "ความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน" และมีการออกนโยบาย รวมถึงมาตรการต่าง ๆ มาแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดก็คือการเปิดลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย ไม่ถึง 1 แสนบาทต่อปี หรือ "ลงทะเบียนคนจน" เพื่อรับสวัสดิการจากภาครัฐ ซึ่งเพิ่งจบสิ้นไปในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ผลปรากฎว่ามีผู้มาลงทะเบียนถึง 14 ล้านคน

ที่มา: ทรัพย์สิน 50 มหาเศรษฐีไทย มาจาก Forbes ส่วนจีดีพีไทย มาจาก IMF

ดร.สมชัย จิตสุชน นักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันมีนโยบายแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำที่มาถูกทางหลายเรื่อง ทั้งภาษีมรดก ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมถึงการเพิ่มเงินเลี้ยงดูบุตรแรกเกิดจาก 400 บาท เป็น 600 บาท แต่สิ่งที่อยากให้มองไปข้างหน้าคือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้วยการศึกษา จะเป็นการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ดีที่สุด

ที่พักอาศํยผู้มีรายได้น้อยในเมือง

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ซึ่งเพิ่มประกาศใช้ในปีนี้ และจะมีผลถึงปี 2564 ได้กำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ทั้งด้านโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากร การประกอบอาชีพ และมีบริการทางสังคมที่ทั่วถึงและเป็นธรรม โดยตั้งเป้าหมายให้ "กลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำสุด 40% มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 15%"

ขณะที่กรอบยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งจะใช้บังคับถึง 20 ปี ระหว่างปี 2560 - 2579 ได้บรรจุเรื่องการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำเอาไว้ด้วย แต่เป็นเพียงกรอบกว้าง ๆ เพราะต้องรอให้ร่าง พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแหงชาติ (สนช.) ถึงจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาในรายละเอียด

แม้ความเหลื่อมล้ำจะเป็นปัญหาที่ฝังรากลึกและยากจะแก้ไขได้ในระยะเวลาอันสั้น แต่ก็เป็นบทพิสูจน์ฝีมือของรัฐบาล คสช. ผู้ให้สัญญาว่าจะเข้ามาปฏิรูป พร้อมวางรากฐานอนาคตให้กับประเทศ